พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เขียนบทความวิพากษ์ "แถลงการณ์ 23 คณาจารย์" ที่ตั้งคำถามโต้แย้งข้อเสนอของ "คณะนิติราษฎร์" ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง มติชนออนไลน์เห็นว่าบทความดังกล่าวมีสาระน่าสนใจชวนถกเถียง จึงขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ต่อดังนี้
ผมได้อ่านข่าว "คำแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์" รายชื่อท้ายแถลงการณ์จำนวน 23 คน ... แก่นของ "แถลงการณ์ 23 คณาจารย์" คือ "อย่าไปต้านรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญในลักษณะที่จะทำให้ทักษิณได้ประโยชน์จากการต่อต้านสิ่งที่ไม่ชอบธรรมในระบบกฎหมาย" ทั้งๆ ที่ผู้ซึ่งได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ นาย ก. นาย ข. ฯลฯ หากแต่เป็นสามัญชนทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่จะรอดพ้นจากการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมในวันนี้และภายหน้า
1.ก่อนอื่น ควรเท้าความก่อนว่า คณะนิติราษฎร์ ออกแถลงการณ์ "ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ" บนจุดยืน ′นิติรัฐ-ประชาธิปไตย′ ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์ จึงเสนอให้"ลบล้าง" ผลพวงจากการกระทำที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ (นับแต่ การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก 2490 เป็นต้นมา) การที่"23 คณาจารย์" เสนอแนะให้ลบล้างไปถึง 24 มิถุนายน 2475 นั่นย่อมหมายได้โดยปริยายว่า "23 คณาจารย์" มุ่งให้ย้อนกลับไปปกครองในระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช่หรือไม่
ควรอธิบายให้เป็นวิทยาทานแก่สติปัญญาของ "คณาจารย์ทั้ง 23 คน" ด้วยว่า คณะราษฎร สถาปนา ′รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร′ เป็นการใช้ "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบดั้งเดิม" (pouvoir constituant originaire) เพื่อก่อตั้ง′ผู้ทรงอำนาจอธิปไตย′ ขึ้นใหม่ (หมายความว่า throw out อำนาจดั้งเดิม ไปเสีย โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร) ปลดโซ่ตรวนพันธนาการจาก "การเมืองแบบเลือกไม่ได้" (การเมืองที่ต้องการพันธุกรรมสายเลือดเดียวกัน ; การเมืองที่ไม่ต้องการความหลากหลาย ; การเมืองที่ต้องการความสมานฉันท์หรือเอกภาพ ; การเมืองที่ต้องการความเงียบเชียบ)
การกระทำของคณะราษฎร จึงเป็น "รัฐประหารเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญ" ตามแนวคิด constitutionalism ขึ้นเป็นครั้งแรก
กล่าวในเชิงรูปธรรมได้ว่า การกระทำของคณะราษฎร ซึ่งใช้วิธีการ coup d′état เพื่อ revolution (จัดทำรัฐธรรมนูญ) มิใช่ coup d′état เพื่อย้อนกลับไปสู่อำนาจระบอบเดิม (ทำลายรัฐธรรมนูญ)
(คำว่า revolution เป็น "คุณค่า" (ในทางที่ดี หรือ ในทางที่เลว ก็ได้) ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดย 2 ลักษณะ คือ violent action หรือ nonviolent action ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ "วิธีการ"
ส่วน coup d′état เป็น "วิธีการ" ซึ่งมีลักษณะ violent action (โดยสภาพของการกระทำ ไม่ว่าจะมีการนองเลือดหรือไม่ เพียงว่า กระทำโดยผิดต่อรัฐ) รากศัพท์ของ coup d′état คือ การกระทำผิดต่อรัฐ
ถามว่า "วิธีการ" ที่เป็นลักษณะ nonviolent action จะนำไปสู่ revolution ได้หรือไม่ (คำตอบคือ ยาก/นานนม เหมือนการวิวัฒนาการจาก สัตว์มีหาง กลายเป็น สัตว์ไร้หาง) และอาจต้องพิเคราะห์ violent ในทางนิยามว่า การอบรมสั่งสอนให้เชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเด็ดขาด จัดเป็น violent หรือไม่
เมื่อสิ่งหนึ่ง เป็น "คุณค่า" กับ อีกสิ่ง เป็น "วิธีการ" ดังนั้น การนำสองเรื่องมาเทียบเคียง/จำแนกความแตกต่าง ย่อมผิดฝาผิดตัว (เป็นคนละเรื่อง) ครับ)
2."23 คณาจารย์" ควรอ่านแถลงการข้อเสนอนิติราษฎร์โดยใช้สติปัญญาอันพึงมี ก่อนที่จะวิจารณ์ แถลงการณ์ "การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ณ วันที่ 25 กันยายน 2554 กล่าวคือ โดยหลักทั่วไป ต้องลบล้างผลทางกฎหมายเหล่านั้นทั้งหมด แล้วมา valid ทีละเรื่อง โดยคำนึงถึงหลักความสุจริตและคุ้มครองหลักความเชื่อถือไว้วางใจของบุคคล ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์ จึงไม่เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการทั่วไป หากแต่เสนอให้ลบล้างเฉพาะมาตรา 36 และมาตรา 37 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งบัญญัตินิรโทษกรรมความผิดฐานก่อกบฎล้มล้างรัฐธรรมนูญ ให้ถือเสมือนว่า เสียไป และไม่เคยเกิดผลขึ้นในระบบกฎหมาย
3.หลักในเรื่องต้นไม้เป็นพิษ อาจใช้ได้ในกรณีที่เป็น "คำสั่ง" หรือ "ประกาศ" ที่มุ่งโดยตรงต่อผลทางกฎหมายบังคับแก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจง แต่สำหรับกรณี "คำสั่ง" หรือ "ประกาศ" ที่ส่งผลไปยังบุคคลภายนอกเป็นการทั่วไปซึ่งกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก ทาง "23 คณาจารย์" ควรสำเหนียกถึงหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐ ที่ต้องประกันความเชื่อถือไว้วางใจของเอกชนที่มีต่อระบบกฎหมายของรัฐ สำหรับ หลักต้นไม้เป็นพิษ ซึ่งเป็นหลักคิดในทางข้อเท็จจริงที่ส่งผลยุติเฉพาะคู่ความเป็นรายคดี หาได้ส่งผลบังคับผูกพันเป็นการทั่วไปบังคับแก่บุคคลทั้งหลายไม่ การหยิบยกหลักดังกล่าวมาโจมตี "ข้อเสนอนิติราษฎร์" จึงเป็นไปโดยความมักง่ายของ "23 คณาจารย์" โดยแท้
4.คณะนิติราษฎร์ ไม่เคยเสนอให้ลบล้าง "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549" และ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" เป็นการทั่วไป หากแต่ลบล้างเฉพาะบทบัญญัติมาตรา ที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยอาศัย "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" โดยกระบวนการแก้รัฐเพิมเติมรัฐธรรมนูญ แล้วนำร่างแก้ไขฯ ไปลงประชามติ อันส่งผลเป็นการใช้ "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" จากการลงประชามติครั้งใหม่ในอนาคตจะลบล้างและยืนยัน "สถาปนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549" ไปพร้อมกันโดยสภาพ
5.เนื่องจาก "23 คณาจารย์" ชี้แจงหลักวิชาชีพและศีลธรรม น่าพิจารณา "บรรดา 23 คณาจารย์แต่ละคน" นะครับ ในฐานะที่พวกคุณเป็น คนสอนกฎหมาย (บางท่านก็ไปรับจ๊อบ เวลามีรัฐประหาร) คงทราบดีว่า บรรดาข้อกล่าวหาทางการเมืองทั้งหลาย เป็นเพียงความเห็น ตราบที่ยังไม่มีการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรมในระบบกฎหมายที่ปกติ (มิใช่ผลโดยตรงจากความมุ่งหมายของการทำรัฐประหาร รวมทั้งปราศจากการแต่งตั้ง หรือ ดำเนินการทั้งหมด หรือบางส่วนมาจากบุคคลซึ่งรับคำสั่งจากคณะรัฐประหาร) บรรดาข้อกล่าวหาชั่วบ้าง เลวบ้าง ก็ยังเป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง (เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง - อาจจริงหรือเท็จ ในข้อความนั้น) หาใช่ "ความจริง" ที่ผ่านกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมายที่ตราขึ้นและดำเนินการโดยชอบในระบบกฎหมายปกติ
6.กรณีที่ท่านยังมีทรรศนะต่อประชาชน ว่ายังไม่ฉลาดเท่าทันนักการเมือง, เช่นนี้ คณาจารย์ทั้ง 23 คน ก็เป็น ประชาชนของรัฐนี้ล่ะครับ ... และพึงสังวรณ์ถึงความป่าเถื่อนทางความคิดของ "คณาจารย์ทั้ง 23" ที่วางเจตจำนงทางการเมืองของตนเป็นที่ตั้ง แล้วยัดเยียดความโง่ให้ ประชาชนคนอื่นๆ ซึ่งอาจจะหมายถึง ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ของรัฐด้วยโดยนัย