วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ย้อนรอย สืบรากฯ จีน-สยาม 5 ภาษา

ย้อนรอย สืบรากฯ จีน-สยาม 5 ภาษา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ตุลาคม 2553 22:32 น.

การแสดงเทศกาลตรุษจีนในเยาวราช ปี 2552 สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ละทิ้งพิธีกรรมของชาวจีนในไทย (ภาพเอเยนซี)
       โครงการ จีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา โครงการปริญญาโทวัฒนธรรมจีนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาศรมสยาม-จีนวิทยา ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง "จีนสยาม 5 ภาษา" ขึ้น (10 ก.ย. 2553) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านจีน เพื่อนำทางย้อนรอยค้นรากวัฒนธรรมของชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษา ที่มุ่งหน้าสู่สยามแต่ครั้งบรรพกาล แล้วตั้งหลักปักฐานใช้ชีวิตอยู่ในสยามตราบจนปัจจุบัน
       
       ในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดยรศ.ดร.มาลินี ดิลกวณิช ประธานโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา และกล่าวเปิดงานโดย รศ.ดร. ชัชวดี ศรลัมพ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากพิธีเปิดพิธีกร อ.ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวแนะนำวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านจีนแต่ละกลุ่มภาษา โดยเริ่มต้นการเสวนาจากกลุ่มจีนแคะ หรือจีนฮากกาเป็นลำดับแรก แล้วตามด้วย จีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำ ตามลำดับ

เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้งรากเหง้าของอารยธรรมชาวจีนฮากกา (ภาพเอเยนซี)
       แคะนักอพยพ
       
       วิทยากรบรรยายมีสองท่าน คือ อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา และคุณนพดล ชวาลกร ผู้อำนวยการศูนย์ฮากกาศึกษา
       
       อาจารย์วรศักดิ์ได้เขียนหนังสือ "คือฮากกา คือจีนแคะ" ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากแรงบันดาลใจที่ต้องการจะสืบค้นประวัติการอพยพของ บรรพบุรุษของท่าน หนังสือเล่มนี้จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชาวจีนแคะอีกหลายคนให้มุ่ง หน้าค้นหารากเหง้าของตน รวมทั้งคุณนพดลด้วย และจากการสืบค้นประวัติดังกล่าว จึงทำให้อาจารย์วรศักดิ์สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจีนฮากกาไว้เป็นจำนวน มาก ท่านเล่าประวัติจีนฮากกาว่า
       
       " จีนฮากกาเป็นนักอพยพ ซึ่งอพยพประมาณสี่หรือห้าระลอกด้วยกัน แต่ละครั้งนั้นประดุจแผ่นดินไหว เป็นการเคลื่อนตัวของคนนับพันนับหมื่น จึงทำให้จีนฮากกามีสำเนียงการพูดที่แตกออกเป็นสิบแปดลักษณะ"
       
       จากการอพยพบ่อยครั้งนี้เองทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าของถิ่น เดิม อาจารย์วรศักดิ์ยกตัวอย่างที่สำคัญคือ "ในสมัยราชวงศ์ชิง จีนฮากกาขัดแย้งกับจีนกวางตุ้ง ถึงกับทำสงครามเสียชีวิตคนนับแสน เมื่อไม่สามารถแย่งที่อันอุดมสมบูรณ์มาได้ จีนฮากกาจึงอพยพเข้าสู่เขตป่าเขาทุรกันดาร"
       
       คุณนพดลกล่าวเสริมในประเด็นหลัก "หลังจากที่จีนฮากกาอพยพเข้าสู่ป่าเขาแล้ว การดำรงชีวิตไม่ได้สมาคมกับโลกภายนอก จึงทำให้ลักษณะเฉพาะของชาวจีนฮากกาเป็นคนเก็บตัว และใช้ชีวิตมุ่งไปสู่การศึกษาเป็นหลัก เช่น แต่งบทกวี เรียนปรัชญาการปกครอง เพื่อเข้าสู่การสอบคัดเลือกเป็นขุนนางในราชสำนัก จะเห็นได้ว่าในบรรดาขุนนางจีนนั้นมีชาวจีนฮากกาจำนวนพอสมควร"
       
       "เมื่อจีนฮากกาบางกลุ่มอพยพเข้ามาสู่สยาม กลับหันมาประกอบอาชีพด้านหัตถกรรม เราจะเห็นงานฝีมือด้านเครื่องหนัง กระเป๋า รองเท้า ช่างเงิน ช่างทองฯ ล้วนเป็นธุรกิจที่ชาวฮากกาผูกขาด เมื่อทำงานด้านหัตถกรรม ค่าตอบแทนจึงเป็นรายชิ้น ทำมากก็ได้มาก ทำน้อยได้ค่าตอบแทนน้อย จีนฮากกาในไทยจึงมีลักษณะตระหนี่เป็นส่วนมาก" คุณนพดลกล่าวเสริม
       
       อาจารย์ วรศักดิ์ทิ้งท้ายเกี่ยวกับอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ของจีนฮากกา ว่าไม่เหมือนกับจีนอื่น ๆ อีก ๔ กลุ่มภาษา อาหารของจีนฮากกามีไม่มาก ที่เห็นได้ชัดเจนก็เป็นจำพวกของอบ เช่น ไก่อบ ฯ เป็นต้น

ตัวอยางอาหารจีนกวางตุ้งยอดนิยมจำพวกติ่มซำ (ภาพเอเยนซี)
       กวางตุ้ง: อาชีพกับความเชื่อ
       
       วิทยากรได้แก่คุณยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ชาวจีนกวางตุ้ง เจ้าของผลงาน "จากอาสำถึงหยำฉ่า" หนังสือที่บอกเล่าถึงเรื่องราวการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของชาวจีนกวางตุ้งที่ หนีความยากลำบากจากแผ่นดินใหญ่ เข้ามาทำมาหากินในแผ่นดินไทย และอีกท่านคือคุณแสงอรุณ กาญจนรัตน์ นักจัดรายการวิทยุ
       
       คุณยุวดีชี้ให้เห็นว่า "ชาวจีนกวางตุ้งอพยพมาไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพบหลักฐานว่ามีท่าเรือนานาชาติ ที่มีเรือสำปั้นมาจอด (เทียบเคียงตามหลักภาษาได้ว่า ซั่งปั๋น ซึ่งหมายถึง กระดานสามแผ่น) ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นชาวกวางตุ้งที่มาเป็นช่างต่อเรือให้กับราชสำนักอยุธยา"
       
       แสดงให้เห็นอดีตที่ยาวไกลของชาวจีนกวางตุ้ง อย่างไรก็ตาม คุณแสงอรุณตั้งคำถามถึงประเด็นการอพยพสมัยใหม่ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่ามีความน่ากลัว และสูญเสียชีวิตคนจำนวนมาก ต้องประสบชะตากรรมสารพัด
       
       คุณยุวดีตอบว่า "สำหรับการอพยพสมัยใหม่ พบในช่วงระหว่างสงครามโลก การอพยพหาได้มีภาพที่น่ากลัวดังที่หลายคนจินตนาการ การล่องเรือมานั้นค่อย ๆ เลียบชายฝั่งมาเรื่อย ๆ นายเรือเลือกฤดูที่ปลอดมรสุม ทำให้มีความปลอดภัยสูง" พลางกล่าวต่อไปว่า
       
       "ชาว แต้จิ๋วจะไปลงเรือที่ท่าทรงวาด ส่วนเรือจีนกวางตุ้งจะมาจอดที่สาทร ตลาดน้อย และแถบวัดญวน (วัดกรรมาตุยาราม) เมื่อขึ้นเรือก็ปักหลักอยู่รวมกันเป็นชุนชน แล้วยึดอาชีพช่างกลึง ค้าขาย และเป็นพ่อครัว เป็นหลัก"
       
       คุณแสงอรุณมีคำถามเพิ่มเติมในส่วนของอาชีพว่า "นอกจากอาชีพพ่อครัวแล้วผู้หญิงกวางตุ้งทำอะไร" คุณยุวดีจึงเล่าเรื่องอาสำให้ฟังว่า
       
       "สิ่งที่น่าสนใจคืออาชีพของหญิงกวางตุ้ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากหญิงกวางตุ้งรักอิสระ หญิงจีนกลุ่มอื่นอพยพตามสามี ส่วนหญิงกวางตุ้งบางคนหนีการแต่งงาน มาเป็นแม่บ้านราคาแพง หรืออาสำ เพราะทำอาหารเป็น พูดจีนเป็น พวกเศรษฐีมักจะจ้างไว้เลี้ยงลูก โดยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคอยชี้นิ้วสั่งแม่บ้านเล็ก ๆ เศรษฐีฝรั่งก็ใช้หญิงกวางตุ้งเป็นคนเลี้ยงลูก คิดว่าอาชีพนี้น่าจะเป็นอาชีพสำคัญของหญิงกวางตุ้งอีกอาชีพหนึ่งทีเดียว"
       
       พูด ไปพูดมาไม่พ้นเรื่องการสังเกตพฤติกรรมของครอบครัวและเพื่อนบ้าน คุณยุวดีรวบยอดพฤติกรรมชาวกวางตุ้งว่า "โดยลักษณะทั่วไปของคนกวางตุ้งมักชอบใช้จ่าย และช่างเจรจา วันหนึ่งหากชาวกวางตุ้งได้นั่งสนทนากันจะมีเสียงเอ็ดตะโรเป็นเวลานาน นอกจากนั้นชาวกวางตุ้งมักจะเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องสี ทะเบียนรถ ฯลฯ"
       
       เรื่องที่สนุกที่สุดในการสัมมนานี้น่าจะเป็นตัวอย่างความเชื่อของชาวกวางตุ้งที่คุณยุวดีเล่าให้ฟังว่า
       
       "เมื่อครั้งมีการก่อสร้างโรงแรมที่หม่าเก๊า เจ้าของโรงแรมจะนำเงินทุกสกุลใส่ลงไปในเสาเอก เป็นความเชื่อว่าเพื่อให้ดึงดูดเงินทุกสกุลให้เข้ามาในกาสิโน ตัวตึกต้องสร้างเป็นค้างคาวแวมไพร์ดูดเลือด พนักงานทุกคนต้องมีดวงเป็นนักพนัน ไม่เช่นนั้นไม่รับเข้าทำงาน นิ้วชี้ต้องใส่แหวนเป็นรูปค้างคาวดูดเลือด เขาจะหมุนแหวนหนึ่งรอบให้ค้างคาวหันหน้าออกให้บินไปดูดเลือด คนแก้ก็ใส่เฟืองบินมาตัด นี่เป็นความเชื่อแม้กระทั่งในโรงพนัน ครั้นชนะพนันได้เงินมาเยอะก็ห้ามนำเงินกลับบ้าน เพราะเงินที่ได้จากการพนันเชื่อว่ามีผี ต้องซื้อของให้หมด ดังนั้นบ้านชาวกวางตุ้งแม้มีฐานะไม่ร่ำรวย แต่มักจะอุดมไปด้วยของแบรนด์เนมราคาแพงมากมาย"
       
       สิ่งเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนสมัยใหม่ แต่ก็เป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในความเป็นคนกวางตุ้งสืบมา

ศาลเจ้าต่ายเตเอี๋ย เป็นศาลเจ้าของชาวจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดระนอง สร้างขึ้นมาประมาณ 100 ปีเศษ เนื่องจากมีชาวจีนจำนวนมากมีความเชื่อว่า พระต่ายเตเอี๋ยเป็นหมอรักษาฮ่องเต้ที่เมืองจีน มีความสามารถรักษาผู้ป่วยได้ทุกโรค จึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นมาเพื่อกราบไหว้ขอยาไปรักษาโรค ยังมีความเชื่อและศรัทธามาจนถึงทุกวันนี้ (ภาพเอเยนซี)
       ฮกเกี้ยน: ความเชื่อแฝงในบ้านหลังงาม
       
       หลังจากจีนกวางตุ้งจบลง ก็มาถึงจีนกลุ่มที่สามคือจีนฮกเกี้ยน ผู้จัดได้เชิญ ดร.ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้จัดทำสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ฮกเกี้ยน และคุณนพพร ภาสะพงศ์ นักเขียนอิสระ เป็นผู้บรรยาย
       
       ทั้งสองท่านสลับกันพูดและเปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงละครที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจีนฮกเกี้ยนว่า
       
       "หากท่านใดได้ชมละครเรื่องบะบ๋า ยะหย๋า ก็จะเห็นภาพสะท้อนของความเป็นจีนฮกเกี้ยนได้มากทีเดียว จีนฮกเกี้ยนนั้นเป็นจีนกลุ่มแรกที่อพยพมาสู่สยาม"
       
       ดร.ขวัญจิต ยกงานเขียนของสกินเนอร์ที่กล่าวว่า "ชาวจีนล่องเรือเข้ามาค้าขายและรับราชการในตำแหน่งออกขุน ในปี พ.ศ.2012 หลักฐานสำคัญก็คือศาลเจ้าที่ชาวจีนฮกเกี้ยนเป็นผู้สร้างการอพยพช่วงแรกใช้ เรือสำเภาล่องมาตามอ่าวไทย มาปักหลักอยู่ทางภาคตะวันออกและภาคกลางของไทย"
       
       "ต่อมาจีนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนฮกเกี้ยนไม่พอใจก็อพยพมาไทยเป็นระลอกที่สอง และในช่วงหลังสงครามโลก ภาคใต้ของไทยก็มีการค้นพบสายแร่ดีบุก ทำให้ชาวฮกเกี้ยนอพยพมาเป็นกุลีในเหมือง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มล่าสุด ดังนั้นขณะนี้จึงพบชาวฮกเกี้ยนหนาแน่นทางภาคใต้ของไทย" ดร.ขวัญจิตกล่าว
       
       คุณนพพรเปลี่ยนประเด็นไปสู่สถาปัตยกรรมและความเชื่อของชาวฮกเกี้ยนว่า
       
       "หลังจากมาตั้งหลักปักฐานแล้ว ชาวฮกเกี้ยนได้นำสถาปัตยกรรมเฉพาะของตนเข้ามาด้วย บ้านของชาวฮกเกี้ยนจะมีช่องระบายอากาศสี่เหลี่ยม การสร้างบ้านมีความเชื่อแฝงอยู่ ด้านหน้าจะเห็นป้ายชื่อ ตรงกลางเป็นชื่อสกุลของบ้าน เรียกว่า "หน้าปีศาจ" เพราะมีหน้าต่างอยู่ข้างประตู หน้าต่างเป็นตา ประตูเป็นปาก สร้างไว้ป้องกันสิ่งชั่วร้าย ในบ้านจะมีช่องแสง ภายในบ้านเปิดโล่ง รูปแบบบ้านมีสามลักษณะคือ บ้านตึกดิน บ้านตึกแถว และบ้านเดี่ยว ส่วนเรื่องความเชื่อเฉพาะ ชาวฮกเกี้ยนจะมีหิ้งบูชาเสาซ้ายหน้าบ้าน สำหรับไหว้เทวดาจี้กง"
       
       สำหรับ อาหารการกินที่ขึ้นชื่อ ก็ได้แก่ อาหารจำพวกหมูตุ๋น บะจ่าง ชา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ผศ. ถาวร สิกขโกศลกล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า ชาวจีนฮกเกี้ยนหาได้อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยนทั้งหมด เป็นแต่เพียงบางส่วนที่พูดภาษาฮกเกี้ยนเท่านั้น

การแสดงงิ้วแต้จิ๋ว มีเครื่องแต่งกายที่ประณีต นับเป็นยอดงิ้วติดอันดับหนึ่งในสิบของจีน (ภาพเอเยนซี)
       คนแต้จิ๋ว: ฉลาดเปรื่อง มากไหวพริบ
       
       หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน ก็ต่อด้วยกลุ่มจีนแต้จิ๋ว ซึ่ง ผศ.ถาวร สิกขโกศล ที่ปรึกษาโครงการจีนศึกษา และคุณสมชัย กวางทองพาณิชย์ เป็นผู้บรรยาย
       
       การบรรยายเต็มไปด้วยบรรยายกาศที่เผ็ดร้อน ผศ.ถาวรเรียบเรียงและเกริ่นโดยข้อมูลพื้นฐานทางด้านภาษาและวรรณกรรมว่า
       
       "หากเทียบกับกลุ่มจีน 5 ภาษา ชาวจีนแต้จิ๋วมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย คนไทยจึงคุ้นเคยกับสำเนียงภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นอย่างดี ภาษาแต้จิ๋วนั้นสามารถรักษาเสียงและศัพท์ภาษาจีนโบราณไว้ได้มาก มีเสียงวรรณยุกต์หลากหลาย และสามารถอ่านเป็นทำนองเสนาะได้เพราะพริ้ง"
       
       "ในด้านวรรณกรรมที่โดดเด่นของคนแต้จิ๋วคือ "กัวแฉะ" เป็นนิทานคำกลอนที่ช่วยให้ผู้หญิงแต้จิ๋วสามารถอ่านหนังสือได้แตกฉาน วรรณกรรมแต้จิ๋วนี้ได้เผยแพร่ไปทุกถิ่นที่มีคนแต้จิ๋วอาศัยอยู่"
       
       ในบทความของ ผศ. ถาวรเรื่อง "แต้จิ๋ว:จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่" ซึ่งตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ยังกล่าวถึงอาหารที่ขึ้นชื่อของแต้จิ๋ว คือ ข้าวต้ม มีทั้งข้าวต้มเครื่องและข้าวต้มขาวกับผักดอง ประกอบกับอาหารอื่น ๆ ทั้งกับข้าว ของว่าง ขนม ซึ่งนับเป็นอาหารที่ประณีตมาก อีกทั้งชาแต้จิ๋ว "กังฮูเต๊" ก็โดดเด่นมีชื่อเสียงเหนือชาทั้งปวง มีอุปกรณ์ประณีต ขั้นตอนการชงชาล้วนพิถีพิถันนับว่าเป็นยอดชาของจีน
       
       ผศ. ถาวรยกศิลปะที่โดดเด่นของชาวแต้จิ๋ว
       
       "ศิลปะ การแสดงของแต้จิ๋วที่เลื่องชื่อ คงไม่พ้น "งิ้วแต้จิ๋ว" ซึ่งแสดงเป็นภาษาท้องถิ่น งิ้วแต้จิ๋วได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบงิ้วที่ยิ่งใหญ่ โดยพิจารณาคุณภาพทางศิลปะและความนิยมแพร่หลาย อีกทั้งเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 450 ปี"
       
       นอกจากนั้น ด้วยความที่คนแต้จิ๋วเชี่ยวชาญศิลปะอย่างรอบด้าน จึงสามารถผลิตเครื่องเคลือบที่เป็นเอกลักษณ์ งานเย็บปักถักร้อย "ล้วนผู้ชายปักฝีมือเหนือผู้หญิง หาดูได้ยากในมณฑลอื่น" ศิลปะการตัดกระดาษ ศิลปะไม้แกะสลัก ฯ คนแต้จิ๋วจึงขึ้นชื่อว่า "ประณีต" ในทุกเรื่อง แม้กระทั่งการทำนาก็ตาม
       
       ผศ. ถาวรกล่าวสรุปท้ายว่า
       
       "โดยทั่วไป คนแต้จิ๋วมักจะชอบทำการค้า ประกอบธุรกิจ มีเศรษฐีชาวแต้จิ๋วอยู่ทั่วจีนและยังออกไปทำมาหากินในโพ้นทะเล จึงได้รับสมัญญาว่า "ยิวแห่งประเทศจีน" ลักษณะชอบทำการค้ามาจากนิสัยที่กล้าได้กล้าเสีย ประกอบกับคนแต้จิ๋วเป็นจีนที่ฉลาดหลักแหลม มีไหวพริบปฏิภาณสูง "ทั้งฉลาดทั้งเจ้าเล่ห์" แต่กอปรไปด้วยความพิถีพิถัน ทำให้คนแต้จิ๋วประสบความสำเร็จในทุกหนแห่งแม้ในสยามปัจจุบัน"
       
       อย่าง ไรก็ตามคุณสมชัยก็ได้นำเสนอในส่วนของการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับจีนแต้จิ๋ว ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ และสถานีโทรทัศน์แต้จิ๋ว พร้อมกับได้แสดงภาพของชาวแต้จิ๋วในสมัยโบราณ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพหายากและสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตคนแต้จิ๋วในสยามอันมีค่า ยิ่ง

ขนมจีนไหหลำ อาหารลือชื่อของชาวไหหลำในไทย (ภาพเอเยนซี)
       ไหหลำ: พิธีกรรมกับชีวิต
       
       ในที่สุดก็มาถึงกลุ่มสุดท้าย พิธีกรเรียนเชิญ รศ. พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล นักวิชาการอิสระ และรศ. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เจ้าของผลงาน "บ่ บั๊ด บ่ ย้ง ก้ง วัฒนธรรมไทยจีน : ไม่รู้ต้องแสวง"
       
       จากข้อมูลทั่วไประบุว่า จีนไหหลำอพยพมาจากเกาะไหหลำของจีน ชาวไหหลำจะมีเป็นจำนวนมากในไทยบริเวณ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเบื้องต้น รศ.พรเพ็ญ เริ่มต้นแสดงภาพเก่าแก่ของตระกูลของท่าน ที่เกาะไหหลำ ซึ่งสะท้อนความเป็นชาวจีนไหหลำผ่านสถาปัตยกรรมและพิธีกรรม
       
       "ศิลปะการสร้างบ้านของจีนไหหลำ มักจะมีกำแพงและมีประตูทางเข้า แต่ว่าประตูนอกกับประตูในจะเยื้องกัน ถือเป็นเรื่องฮวงจุ้ย มีศิลปะเป็นประตูโค้ง ทางเข้าไปในตัวบ้านมีภาพวาดสะท้อนความชื่นชอบทางด้านศิลปะ"
       
       "สาเหตุ ที่แต่ละบ้านประตูตรงกัน แล้วตั้งโต๊ะตรงกลาง เพราะเป็นบ้านญาติสนิทสกุลเดียวกันทั้งหมด ชาวจีนไหหลำจึงอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ เวลามีพิธีกรรม เช่นการไหว้พ่อแม่ มักจะมีการจุดประทัดภายในตัวอาคาร การออกแบบบ้านในลักษณะนี้จึงเอื้อต่อพิธีปฏิบัติอย่างมาก" รศ.พรเพ็ญกล่าว
       
       จากนั้น รศ.แสงอรุณได้พูดถึงสิ่งที่ชาวไหหลำนับถือ คือ "ไห่กง" ท่านเปาหน้าขาว นอกจากนั้นยังมีเจ้าที่ประจำถิ่นคือ "พกเด๊กกง" คนจีนไหหลำจะนำติดตัวเสมอ คือเอาความเชื่อนี้ไปด้วยเสมอ พก แปลว่าวาสนา ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างรูปปั้นเคารพที่บ้านบึง จังหวัดชลบุรี
       
       สิ่งที่ รศ.แสงอรุณเล่าให้ฟังก็คือการแสดงงิ้วของชาวจีนไหหลำ
       "ชาวไหหลำยังมีการแสดงงิ้วในพิธีกรรมที่สะท้อนความเชื่อด้านวิญญาณ จะเชื่อว่า "ติ้วกวั๊น" ภูตประจำโลงศพจะมาขัดขวางไม่ให้วิญญาณออกมาจากโลงศพ ต้องเผากระดาษเงินกระดาษทองติดสินบนให้วิญญาณออกมาได้ ดังเช่นพิธีเบิกโลงของคนไทยต้องมีคนตอบสามครั้งเพื่อไม่ให้วิญญาณอื่นมาจับ จองโลง นอกจากนั้นยังมีฉากพกเด๊กกง เจรจาต่อรองกับปีศาจ ต้องเผากระดาษเงินกระดาษทองแทบทั้งเรื่อง ท้าวเวสสุวรรณแต่งตัวออกมาพิพากษาความดีความชั่วของวิญญาณ เพื่อให้ลูกหลานสบายใจ และในตอนที่วิญญาณอำลาลูกหลาน จะสมมติให้วิญญาณขึ้นไปบนหอสูง มองอย่างอาลัยอาวรณ์ เป็นฉากที่น่าเศร้ามาก เป่าปี่สามครั้งวิญญาณต้องลาจาก"
       
       ความเชื่ออีกประการที่น่าสนใจที่ รศ.แสงอรุณได้หยิบยกขึ้นมาก็คือ มารดาเมื่อคลอดลูกทำให้ดินเปื้อนเลือดเป็นบาปหนัก ครั้นสิ้นชีวิตต้องแก้บาปด้วยการให้ลูกหลานทำพิธีชำระโลหิต จึงจะพ้นกรรม ถือว่าคลอดลูกเป็นบาป กงเต็กชาวจีนทุกภาษามีพิธีนี้ มีการพรรณาความทุกข์ของแม่ตั้งแต่ตั้งท้อง การกินน้ำแดงในพิธีกงเต็ก (น้ำจะแช่เปลือกอั่งขักจนรสฝาดเฝื่อนมาก) โดยอุปมาให้กินเลือดที่แม่ทำเปื้อนพื้นดิน เด็ก ๆ มักจะไม่เต็มใจ พี่ ๆ จะดื่มแทนน้อง "ดื่มทุกข์แทนแม่"
       
       "ต่อ มามีน้ำหวานมาแทน เด็ก ๆ แย่งกันดื่มอย่างมีความสุข ไม่มีอารมณ์สะเทือนใจว่าเรากำลังกลืนทุกข์แทนแม่ ทุกวันนี้ประเพณีดั้งเดิมก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว" รศ.แสงอรุณกล่าวปิดท้าย
       
       บทส่งท้าย: รู้จักจีนสยามไปทำไมกัน
       
       หลังจากการกล่าวถึงจีนแต่ละกลุ่มภาษาไปแล้ว ผู้จัดได้เรียนเชิญ อ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวรวบรัดประเด็นในวันนี้ ดร.วาสนากล่าวว่า
       
       "กลุ่มชาติพันธุ์จีนที่อยู่ในไทย ไม่ว่าจะเป็นจีนแคะหรือฮากกา จีนกวางตุ้ง จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำ นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังสามารถคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนและ วัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือความเป็นไทยได้ อย่างกลมกลืน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สิ่งที่เรียกว่า "จิตสำนึกทางชาติพันธุ์" ซึ่งเป็นกลจักรทางความคิดอันสำคัญที่ทำให้อัตลักษณ์และความเป็นกลุ่ม ชาติพันธุ์ทั้งหลายยังดำรงอยู่ได้ ทั้งยังทำให้เราได้ตระหนักว่า อัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของเรานั้น ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความเป็นชาติเช่นกัน"
       
       ดร.วาสนา พยายามเชื่อมโยงความเป็นจีนสยามให้เข้ากับตนเอง โดยการแสดงภาพต่าง ๆ ในพิธีกรรมความเป็นจีนที่เคยผ่านพบเมื่อวัยเด็ก กอปรกับการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้ ดร.วาสนาเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีน ซึ่งมีประชากรที่หลากหลาย นับรวมกันแล้วมากที่สุดเป็นลำดับหนึ่งของโลก อีกทั้งยังกระจายตัวอยู่ทุกเขตแคว้นบนดาวเคราะห์ดวงนี้
       
       -----
       
       จีน สยาม 5 กลุ่มภาษายังมีลักษณะเฉพาะอีกหลายประการให้สืบค้นในทางวิชาการ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ การเสวนาครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะ ที่มา ความเชื่อ พิธีกรรม และอัตลักษณ์ของจีนสยามในแต่ละกลุ่มภาษาอันเป็นการเปิดมิติให้มีการค้นคว้า ในระดับที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และนำมาซึ่งคุณูปการต่อวงการสังคมศาสตร์สืบไป

http://www2.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9530000141612

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น