อดีต คปร. แนะให้เกิดความยุติธรรม คดีความที่ดินป่าไม้ ควรมีมิติด้านมานุษยวิทยาด้วย ขณะที่ นักวิจัย เปิดผลการศึกษา “คำพิพากษาคดีที่ดินป่าไม้” พบส่วนใหญ่ยึด กม.มากกว่าบริบทชุมชน เสนอตั้งศาลพิเศษด้านที่ดิน-ป่าไม้
วันที่ 20 มิถุนายน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรร่วมจัดเสวนาสาธารณะ“สิทธิชุมชนกับคำพิพากษาคดีที่ดินป่าไม้” ณ ห้อง 222 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตกรรมการปฏิรูป ปาฐกถา เรื่อง “คดีความที่ดินป่าไม้กับวิกฤติเกษตรกรรายย่อย”
ม.ร.ว.อคิน กล่าวตอนหนึ่งว่า จากปัญหาพิพาทระหว่างศาล เจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในคดีที่ดินและป่าไม้ เนื่องด้วยกฎหมาย และด้านมานุษยวิทยามีวิธีการมองที่ต่างกัน กล่าวคือ ด้านกฎหมายจะรวมรวบข้อมูลต่างๆ ให้เป็นประเด็นและเล็กลง แต่นักมานุษยวิทยาจะค้นหาข้อมูลให้กว้างขึ้น ซึ่งในประเด็นที่ดินและป่าไม้ ควรมีความคิดไปทางมานุษยวิทยาด้วย ที่จะต้องค้นหาข้อมูล บริบทให้กว้างขึ้นในการพิจารณา
“มีหลายคดีที่น่าจะใช้ระบบไต่สวน แต่กลับไปใช้ระบบกล่าวหา ความจริงผู้พิพากษาสามารถใช้วิจารณญาณได้ว่าคดีลักษณะใดควรจะใช้ระบบใด แต่ที่ศาลไม่ค่อยเปลี่ยนไปใช้ระบบไต่สวนด้วยเหตุว่า กระบวนการเรียนและการอบรมเป็นระบบไต่สวนมาตลอด รวมทั้งมีความคิดติดค้างอยู่ว่า ในระบบยุติธรรม กฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ศาลจึงไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือข้อกฎหมายได้ ทั้งนี้โจทก์และจำเลยก็ไม่มีความเท่าเทียมกัน ทั้งด้านทุนทรัพย์และปัญญา จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ศาลพิจารณาหรือตัดสินมานั้นไม่เป็นธรรมและ สร้างความทุกข์ยากให้ชาวบ้าน”
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงปัญหาใหญ่ของบ้านเรา คือ รัฐถือว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์ที่เด็ดขาด ฉะนั้น จะทำอะไรกับที่ดินก็ได้ ทั้งที่หลักสมัยก่อน ที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของที่ดิน ใช้หลักการว่า หากผู้ใดก่นสร้าง ปรับปรุงใช้หรือครอบครองที่ดินก็จะเป็นของผู้นั้นสืบทอดเป็นมรดก แต่หากไม่ครอบครองหรือปล่อยให้รกร้างก็จะตกเป็นของรัฐ
“ปัจจุบันหลักเกณฑ์ถูกเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่แค่สภาพที่เปลี่ยนไป แต่ในแง่ความคิดเกี่ยวกับที่ดินก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะไม่ใช่แค่ราชการและหน่วยงานราชการเท่านั้นที่คิดว่า ที่ดินเป็นของตัว แต่เป็นทุกกรม กอง กระทรวง ดังเช่นที่ กระทรวงศึกษาธิการจะทำการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก นั่นเพราะคิดว่า โรงเรียนเป็นของตนเอง ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้สอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่เสนอเรื่องการกระจายอำนาจ ยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค”
อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวด้วยว่า สังคมปัจจุบันมีกระแสที่หลากหลายเข้ามา อาทิ กระแสที่กล่าวหาว่า ชาวบ้านบุกรุกป่า กระแสอนุรักษ์ป่าและกระแสโลกร้อน ซึ่งคิดว่า ศาลก็รู้สึกและรับกระแสเหล่านั้น หมายความว่า การตัดสินคดีความไม่ใช่ตามกฏหมายเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยความรู้สึกที่ได้รับจากกระแสเหล่านี้ด้วย วิธีการแก้ไขจะต้องปรับปรุงการศึกษาใหม่
" เราพบว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยราชการใช้อำนาจทำอะไรหลายอย่างที่ก่อทำให้เกิดปฏิกิริยากับชาวบ้าน และหลายเรื่องมาจากกระแส เช่น การท่องเที่ยวที่ออกมาตรการขัดกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ต้องการให้ศาลไต่สวนหน่วยราชการที่ออกกฎหมายไม่เป็นธรรม เพื่อแก้ไขกฎหมายเหล่านั้น แต่ศาลจะยอมทำและกล้าทำหรือไม่ยังเป็นคำถามต่อไป ซึ่งผู้ที่รู้ดีว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมอย่างไรคือชาวบ้าน ดังนั้น หน่วยงานราชการ อัยการ ตำรวจและศาลจะต้องคุยกัน เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐกับชาวบ้าน ทั้งนี้ การแก้จะดำเนินไปได้ต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้ข้อจำกัดและช่วยกันหาทางออกร่วมกัน”
จากนั้นทนายความสมนึก ต้มสุภาพ นำเสนอผลการศึกษา “คำพิพากษาคดีที่ดินป่าไม้และผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน”โดยสรุปว่า การพิจาณาคดีความของศาลมักพิจารณาโดยยึดหลักกฎหมายมาก่อน โดยดูว่าพื้นที่นั้นๆ มีสถานะทางกฎหมายอย่างไร เช่น ป่าสงวน อุทยาน สวนป่า ที่เอกชน ฯลฯ แต่ไม่พิจารณาว่า การกำหนดให้ที่ดินมีสถานะเช่นนั้น เป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด
ทั้งนี้การพิจาณาคดีส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของผู้พิจารณาคดีแต่ละคน ระบบการหาความจริงของศาลยังจำกัดอยู่เฉพาะการรับฟังพยานเอกสารแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งไม่เพียงพอ เนื่องจากกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยมีข้อบกพร่องอยู่มาก รวมทั้งยังขาดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลทางสังคมศาสตร์ โบราณคดี มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา
สำหรับข้อเสนอแนะต่อองค์กรยุติธรรม มี 6 ข้อ ได้แก่
1.ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินป่าไม้ให้มีเอกภาพ และวางหลักการของกฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม
2.ควรมีการรวบรวมข้อมูลและสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับสิทธิทางธรรมชาติ และสิทธิชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทั้งนี้การค้นหาความจริงเกี่ยวกับคดีต้องนำสืบคดีและค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบ มากกว่าการอาศัยเอกสารหลักฐานอย่างเดียว
3.พัฒนาระบบการฟ้องคดีสาธารณะโดยให้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้
4.จัดตั้งหน่วยงานพิเศษในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับดินป่าไม้ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ เป็นเอกภาพ
5.มีศาลพิเศษด้านที่ดินป่าไม้
6.จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินป่าไม้ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีมาตรฐาน ไม่เลือกปฏิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น