(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555)
รู้สึกเห็นใจคณะนิติราษฎร์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นอย่างมากที่ถูกรุมกระหน่ำจากทุกสารทิศ ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยคาดว่าน่าจะเป็นพวกเดียวกันอย่างพรรคเพื่อไทย
คณะนิติราษฎร์มองเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้
อีกทั้งยังเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะนิติราษฎร์จึงได้ออกมาจุดประกายความคิดด้วยการเสนอขอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างท่วมท้นจากสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ออกมาคัดค้านการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนไม่น้อย
สิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ไม่ปกติก็คือกลุ่มที่ออกมาคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ไม่เคยออกมาโต้แย้งในเชิงเหตุผลกับคณะนิติราษฎร์เลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ทบ. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หรือ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
คนกลุ่มนี้มีแต่ออกมาข่มขู่ และกล่าวหาคณะนิติราษฎร์ว่าเป็นพวกล้มเจ้า ไล่ให้ไปอยู่เมืองนอก และล่าสุดบอกว่าจะส่งหน่วยข่าวตรวจสอบคณะนิติราษฎร์
อย่างนี้จะเข้าข่ายเป็นการคุกคามเสรีภาพของประชาชนหรือไม่
ทางที่ดีแล้วกลุ่มที่คัดค้านมาตรา 112 ควรที่จะหาเหตุผลมาโต้แย้งเนื้อหาที่คณะนิติราษฎร์นำเสนอว่ามีความไม่เหมาะสมตรงไหน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย
ที่ไม่พูดอาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้ไม่เคยอ่านข้อเสนอในการแก้มาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์
เชื่อว่าหากคนกลุ่มนี้เคยได้อ่านคงไม่ออกมาพูดว่าคณะนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 แล้วลามไปถึงคำพูดในทำนองว่าหากมีการยกเลิกกฎหมายนี้แล้วมีผู้ละเมิดด่าทอผู้ปกครอง ญาติหรือพ่อแม่ของท่านจะรับได้หรือไม่
หรือเคยอ่านแล้วแต่แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ
ไม่ว่าจะไม่เคยอ่านหรืออ่านแล้วแต่ไม่เข้าใจ จะขอสรุปข้อเสนอแนะร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์ได้นำเสนอไว้ซึ่งมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
1.ให้ย้ายหมวดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรไปอยู่ในหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับการละเมิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2.แยกการกำหนดบทลงโทษเพื่อคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
3.เปลี่ยนบทกำหนดโทษโดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และทางวิชาการ
5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีข้อกล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ข้อกล่าวหาที่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว
6.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษแจ้งความ แต่ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์มีตรงไหนที่ให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท
เนื้อหาหลักของมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ในร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ เพียงแต่มีการปรับแก้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยย้ายจากหมวดความมั่นคงของราชอาณาจักรไปอยู่ในหมวดการละเมิดพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ มีการกำหนดอัตราโทษใหม่ให้เหมาะสม และมีการป้องกันไม่ให้นำเรื่องนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยระบุให้สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานที่จะเป็นผู้กล่าวโทษ
สังคมไทยทุกวันนี้แทนที่จะพิจารณาตัดสินปัญหากันด้วยเหตุผล แต่กลับตัดสินกันด้วยอารมณ์และความรู้สึก
สถาบันอุดมศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำทางวิชาการควรจะได้แสดงบทบาทในเรื่องนี้ให้มากขึ้นโดยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันในเชิงวิชาการโดยเชิญกลุ่มที่มีความเห็นต่างกันมาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้
แต่กลับไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลยที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการแสดงบทบาทดังกล่าว บางมหาวิทยาลัยกลับไปทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น ห้ามจัดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้มาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมืองไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมายาวนานถึง 80 ปี ทำได้เพียงแค่นี้เท่านั้นเองหรือ
อาจารย์มหาวิทยาลัยยังถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางวิชาการขนาดนี้ แล้วจะไปหวังอะไรกับเสรีภาพของประชาชน
จริงๆ แล้ว มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา และที่ผ่านมาในอดีตกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เคยมีการแก้ไขมาแล้วในปี 2519
การเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 มิใช่มีแต่เฉพาะกลุ่มของคณะนิติราษฎร์เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
ถ้ายังจำกันได้ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยมีแนวคิดที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 112
ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คอป. ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเห็นว่า มาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไข
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ราชนิกุลผู้สูงศักดิ์ก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้วในหนังสือ "ลอกคราบ ส. ศิวรักษ์" เกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในครั้งนั้นค่อนข้างจะสอดคล้องกับข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์
ส่วนกลุ่มคนที่ร่วมลงชื่อเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 กับคณะนิติราษฎร์ก็ล้วนเป็นบุคคลชั้นนำของประเทศ โดยมีทั้งกลุ่มราชนิกุล และอาจารย์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
คนกลุ่มนี้กลับไม่ถูกกล่าวหาว่าล้มเจ้า จะมีก็แต่เฉพาะ รศ.ดร.วรเจตน์เท่านั้นที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นพวกล้มเจ้า
หรือหากจะมีการกล่าวหากลุ่มบุคคลที่ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ว่าเป็นพวกมีแนวคิดจะล้มเจ้า ล้มสถาบัน เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่ก็คงยอมรับไม่ได้
ทำไมไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยโดยเปิดเวทีให้มีการถกเถียงกันในเชิงวิชาการ ปล่อยให้สู้กันบนดินจะมิดีกว่าปล่อยให้สู้กันใต้ดินหรือ
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นเพียงการจุดแสงสว่างทางปัญหาให้เกิดขึ้นในสังคม หากสังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยังยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้ ข้อเสนอดังกล่าวของคณะนิติราษฎร์ก็ต้องเป็นหมันไปในที่สุด
ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องออกมาข่มขู่ คุกคามคณะนิติราษฎร์ให้เป็นที่น่าสมเพช เช่นที่ทำกันอยู่ในเวลานี้เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น