วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

หนังสือที่คนไทยควรอ่าน ของขวัญปีใหม่ 10 เล่ม จากหนอนหนังสือ "ชัยวัฒน์" - "สฤณี"


วันที่ 03 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4276  ประชาชาติธุรกิจ


หนังสือที่คนไทยควรอ่าน ของขวัญปีใหม่ 10 เล่ม จากหนอนหนังสือ "ชัยวัฒน์" - "สฤณี"





"หนังสือ" เป็นหนึ่งในของขวัญยอดฮิต ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปีนี้ก็เช่นกัน ใครหลายคนส่งความสุขปีใหม่ด้วย "หนังสือ" ให้คนที่รักและเคารพ

"ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้ ชวนหนอนหนังสือ 2 ท่าน แนะนำหนังสือน่าอ่าน 10 เล่ม เป็นของขวัญปีกระต่าย 2554 ให้กับ คุณผู้อ่าน

คน แรกคือ "ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์" อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) อีกคนคือ "สฤณี อาชวานันทกุล" นักเขียนและนักวิชาการอิสระ

จาก "ห้วงมหรรณพ"

"สี่แผ่นดิน" ถึง "ขวัญสงฆ์"

หนังสือ เล่มแรกที่ ดร.ชัยวัฒน์แนะนำ คือ "ห้วงมหรรณพ" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นวนิยายเชิงสารคดี บอกว่า จุดเด่นของเล่มนี้คือให้คนอ่านได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวไปจนถึงการมาเป็นมนุษย์ ความหมายของการเป็นมนุษย์ และการมีครอบครัว นอกจากนี้ยังนำหลักธรรมะมาจับและอธิบายให้ฟังถึงสิ่งมีชีวิตว่าคืออะไร ซึ่งผู้อ่านจะได้มิติทั้งเรื่องปรัชญาและศาสนาอยู่ในเล่มเดียวกัน

เล่ม ที่สองคือ "สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เช่นกัน จุดเด่นคือเป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยมาจนถึงวันนี้ อ่านแล้วได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้เชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะชีวิตของ "แม่พลอย" ผู้หญิงแกร่ง และมิติดราม่า ที่สำคัญคนอ่านจะได้เห็นเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของสังคมของสังคมไทย

ถัด มาเล่มที่สาม "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ของ "วินทร์ เลียววาริณ" ดร.ชัยวัฒน์บอกว่า วินทร์เขียนได้สนุกและ ร่วมสมัย กะทัดรัด หักมุม จบในบท แต่ร้อยเรียงตัวละครให้ เดินต่อไปในแต่ละตอนได้เป็นอย่างดี

ต่อมา เล่มที่สี่ เป็นหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็ก แบ่งเป็น วรรณกรรมเยาวชนเด็กผู้ชาย ได้แก่ เรื่อง "บึงหญ้าป่าใหญ่" เขียนโดย "เทพศิริ สุขโสภา" เป็นหนังสือคลาสสิกรุ่นเก่าที่น่าอ่าน ส่วนวรรณกรรมเด็กผู้หญิงคือ "ความสุขของกะทิ" ของ "งามพรรณ เวชชาชีวะ" เล่มนี้อ่านง่าย ภาษาในการเดินเรื่องน่ารักและสวยงาม ประสานกับความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัว แม่ และความเสียสละ

เล่ม ที่ห้าคือ "ขวัญสงฆ์" ของ "ชมัยภร แสงกระจ่าง" เป็นวรรณกรรมเยาวชน ที่มีความโดดเด่นด้านการแต่งนวนิยายเป็น ร้อยกรองทั้งเล่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้า อยู่กับพระ อยู่กับวัด ท่ามกลางบทเรียนชีวิตมากมาย ที่สำคัญผู้อ่านจะได้ความงามและความซาบซึ้งของบทกวี



จะรักกันอย่างไร

ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน


ด้าน "สฤณี" แนะนำหนังสือเล่มแรกชื่อว่า "จะรักกันอย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน" ของอาจารย์ "อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" รวบรวมจากคอลัมน์ "ใต้กระแส" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สำนักพิมพ์ "โอ้ มาย ก็อด พับลิชชิ่ง"

"สฤณี" บอกว่า หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นทั้งจากตัวผู้เขียน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักสังคมวิทยาที่มีสายตาเฉียบแหลม เพราะทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านมาต่อเนื่อง

"เวลาพูดถึงความเหลื่อม ล้ำหรือประเด็นปัญหาสังคม สาเหตุ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์อรรถจักร์เป็นนักคิดคนหนึ่งที่คิดได้ลึกซึ้ง เขียนได้เข้าใจ โดยแตะตั้งแต่ปัญหาสังคม เช่น คุณภาพการศึกษา ไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปีใหม่จึงอยากให้คนไทยเริ่มทำความเข้าใจกับปัญหาใหญ่ต่าง ๆ ในระดับที่ลงลึกถึงสาเหตุ ถ้าไม่ศึกษารากของปัญหา"

"สงครามระหว่างสี "

ถัด มาเล่มที่สองคือ หนังสือ "สงครามระหว่างสี" : ก่อนถึงจุดที่มิอาจหวนกลับ และ "สงครามระหว่างสี" : ในคืนวันอันมืดมิด ของอาจารย์ "เกษียร เตชะพีระ" ซึ่ง "ก่อนถึงจุดที่มิอาจหวนกลับ" พูดถึงวิกฤตการณ์การเมือง "ระบอบทักษิณ" ไปจนถึงการรัฐประหาร และปรากฏการณ์เสื้อเหลือง ส่วน "ในคืนวันอันมืดมิด" พูดถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ปรากฏการณ์เสื้อแดง และเหตุการณ์พฤษภาคมเลือด 2553 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊ค

"ทั้ง 2 เล่ม อาจารย์เกษียรเขียนได้แหลมคม ย่อยเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อธิบายหลักการและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ของประเทศไทยเองในอดีตไปจนถึงเหตุการณ์ในต่างประเทศ ที่อาจจะช่วยให้เราเข้าใจสังคมไทยได้มากขึ้น"

"นอกจากนี้ยังมี เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ค่อนข้างครบถ้วน ถ้าใครอยากจะเข้าใจปรากฏการณ์ของประเทศไทย อย่างน้อยในแง่ทางความคิดระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ถ้าอ่านจบทั้ง 2 เล่ม จะเข้าใจว่าสังคมไทยไม่ใช่แค่วิกฤตทางการเมืองอย่างเดียว แต่มันซับซ้อนมากกว่านั้น"

"มังกรทะยาน คชสารผยอง"

เล่ม ที่สามที่ "สฤณี" แนะนำให้คนไทยอ่านคือ "มังกรทะยาน คชสารผยอง" หนังสือแปลของสำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์สำนวนแปลของคุณ "สมชัย สุวรรณบรรณ" แปลจากภาษาอังกฤษชื่อ "The Elephant and the Dragon" ของ Robyn Meredith พูดถึงปรากฏการณ์ระดับโลก ของ 2 ประเทศคือ "จีน" และ "อินเดีย"

ความ โดดเด่นคือไม่ใช่แค่การสรุปข่าวว่าจีนกับอินเดียโตเร็วแค่ไหน แต่คนเขียนซึ่งเป็นนักข่าวเจาะที่เก่งมาก เท้าความกลับไปถึงประวัติศาสตร์ของจีนและอินเดีย และบอกเล่าการเดินทางของอินเดียกับจีนที่เหมือนและแตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละประเทศ และพูดถึงปัญหาปัจจุบัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีน

"สฤณี" บอกว่า ประเด็นที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือ การแตะประเด็นวัฒนธรรมและสภาพสังคมของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งน่าก็จะช่วยอธิบายคำพูดฝรั่งที่ว่า อีกหน่อยจีนจะเป็นประชาธิปไตย เพราะทุนนิยมมันต้องไปด้วยกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะชี้ว่า อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็เป็นได้

"คนจีนจำนวนมากก็ไม่ได้อยากเป็น ประชาธิปไตย อ่านแล้วสนุก คนเขียนก็ค่อนข้างใจกว้าง คือมองจากคนอเมริกันที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกคุกคาม โดยพยายามทำความเข้าใจจีนและอินเดีย เรียกว่าเป็นหนังสือที่อธิบายปรากฏการณ์โลกได้ดีอีกเล่มหนึ่ง"

โลกใบเขียวของคิ้วหนา

เล่ม ที่สี่คือ "โลกใบเขียวของคิ้วหนา" สำนักพิมพ์โลกสีเขียว เป็นหนังสือภาคต่อของหนังสือที่ชื่อ "โลกร้อน ทุกสิ่งที่เราทำเปลี่ยนแปลงโลกเสมอ" ของคุณ "ฐิตินันท์ ศรีสถิต"

ความ น่าสนใจของเล่มนี้คือผู้เขียนเป็นคนที่พยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอยู่ตลอด และทดลองอะไรใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เราจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม อยากมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม อ่านสนุก เขียนง่าย และมีการ์ตูนประกอบ

ความจริงของความจน

ส่วนเล่มสุด ท้ายคือ "ความจริงของความจน" เป็นหนังสือที่ดาวน์โหลดได้ฟรีจาก www.fringer.org ผลิตโดยคณะนักวิชาการ ภายใต้คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2544

"สฤณี" อธิบายว่า หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นช่วงที่มีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งคล้ายคณะปฏิรูปที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยพยายามระดมสมองนักวิชาการมาช่วยคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ตัวหนังสือเป็นบทแนะนำที่ค่อนข้างดี เพราะมีอาจารย์หลายท่านมาช่วยกันเขียน ตั้งแต่อาจารย์หมอประเวศ วะสี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ และนักวิชาการอีกหลายท่านที่คลุกคลีกับชาวบ้านและศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาทิ อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ฯลฯ

"จุด เด่นของหนังสือเล่มนี้คือยังทันสมัยอยู่ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมืองไทยเป็นปัญหาเชิงวิธีคิด ซึ่งคนอาจไม่ค่อยรู้ คิดแค่ว่าถ้าขยันก็รวยได้ ซึ่งจริง ๆ อาจมีมากกว่านั้น ด้วยปัญหาโครงสร้างมากมายในสังคมไทย ที่กีดกันคนไม่ให้ยกระดับได้ง่าย"

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการใช้อำนาจใน ระบบยุติธรรม ปัญหา โครงสร้างภาษีไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าไปอ่านข้อดีของหนังสือเล่มนี้ ก็คือ เขาจะตัดสลับความคิดและผลงานของอาจารย์หลายท่าน ด้วยปากคำของคนจน

นอกจากนี้เราก็จะได้อ่านก่อน เช่น คนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาคืออะไร แล้วก็โยงมาว่า ในทางวิชาการจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

"ที่ แนะนำเพราะตอนนี้อยู่ในกระแสปฏิรูปประเทศไทย แล้วจะปฏิรูปได้จริงหรือไม่ได้จริง ไม่ได้อยู่ที่นโยบายอย่างเดียว แต่อยู่ที่...อาจารย์นิธิใช้คำว่า "ความต้องการของสังคม" คือคณะปฏิรูปก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล แค่เสนอเฉย ๆ แต่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ถ้าสังคมเข้าใจประเด็น มองเห็นว่ามันเป็นปัญหายังไง มีฉันทามติในหมู่ประชาชนให้เกิด ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใครก็จะต้องผลักดันให้เกิด"

"หนังสือแบบนี้จึง เป็นการเริ่มสร้างความเข้าใจ ว่าจริง ๆ ปัญหาเป็นปัญหาอย่างไร ถือเป็นหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่ง ที่ไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการที่เข้าใจยาก เพราะอาจารย์แต่ละท่านเป็นนักคิดที่อธิบายเก่งและเชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัญหาคนจนเป็นแบบนี้ แล้วสะท้อนมาว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแจกฟรี สำหรับทุกคนที่อยากจะศึกษาและร่วมสร้างสิ่งที่อาจารย์นิธิเรียกว่า "ฉันทามติของประชาชน"" สฤณีทิ้งท้าย

ปีใหม่นี้ขอให้ผู้รักการอ่านมีความสุขและสนุกกับหนังสือเล่มโปรดตลอดปี


หน้า 28


http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02spe01030154&sectionid=0223&day=2011-01-03


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น