ปราปต์ บุนปาน : ความยุติธรรมและการปรองดอง
วันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
Share
| (ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2555)
ระหว่างนั่งชมการประชุมพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดอง โดยสภาผู้แทนราษฎร มีโอกาสได้ยินคำว่า "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" หลายครั้ง
ฟังแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมา
ไม่ได้เป็นข้อคลางแคลงใจต่อสถาบันพระปกเกล้าหรือพรรคประชาธิปัตย์
แต่เป็นคำถามว่า ใครบ้างคือ "ผู้ชนะ" ที่จะได้รับความยุติธรรม หากรัฐบาลนำข้อสังเกตของ กมธ.ปรองดองไปปฏิบัติ? พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, พรรคเพื่อไทย, แกนนำ นปช. และชนชั้นนำอื่นๆ
หรือจะรวมถึงผู้ซึ่งลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล "คนเสื้อแดง" ที่บาดเจ็บ ล้มตาย ถูกจับกุมคุมขังในคดีการเมือง ตลอดจนประชาชนฝ่ายอื่นๆ ถ้า "ผู้ชนะ" หมายถึงคนกลุ่มหลังด้วย
การปรองดองจะดำเนินไปถึงระดับไหน?
ข้อสังเกตสำคัญของ กมธ.ปรองดอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
คือ การเสนอให้นิรโทษกรรมบุคคลทุกฝ่าย ทุกระดับ ที่มีคดีการเมืองติดตัว ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ
"คนเสื้อแดง" หรือประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย
จะยอมรับได้ไหม?
ถ้ากลุ่มบุคคลซึ่งเขามองว่าเป็น "ฆาตกร" จะได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย เช่นเดียวกับที่ประชาชนอีกฝ่ายก็คงรับไม่ได้ หากอดีตนายกฯทักษิณ และกลุ่มคนที่เขามองว่าเป็น "พวกเผาบ้านเผาเมือง" จะได้รับการนิรโทษกรรม
เมื่อปัญหาติดขัดตรงจุดนั้น ความปรองดองหรือการนิรโทษกรรมใดๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น สุดท้าย "คนธรรมดา" ของทุก "สีเสื้อ" ที่มีชะตากรรมเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์บ้านเมือง กระทั่งต้องถูกคุมขังในเรือนจำ หรือต้องเสียเวลาและกำลังทรัพย์ในการต่อสู้คดี
ก็ยังไม่พ้นมลทิน และเฝ้ารอคอยอิสรภาพกันต่อไป
แนวโน้มดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอของนักวิชาการอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เสนอให้
หนึ่ง แยกกรณีทักษิณ รวมทั้งบุคคลระดับนำทุกฝ่าย เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ กองทัพ แกนนำพันธมิตร และ นปช.ออกมา แล้วนิรโทษกรรมให้แก่คนธรรมดาของทุกฝ่าย สอง ให้มีการ "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร" ตามข้อเสนอของ "คณะนิติราษฎร์"รวมถึงการยกเลิกคดีต่างๆ ของ คตส.
ถ้าทำตามข้อเสนอของสมศักดิ์ หมายความว่า หนึ่ง คนทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ ยังต้องถูกดำเนินคดี
สอง ทักษิณจะหลุดคดีของ คตส. แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่
สาม คนระดับธรรมดาของทั้งฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และทหารชั้นผู้น้อย จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด สี่ คนระดับนำ อย่างอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ, นายทหารชั้นผู้ใหญ่,
แกนนำพันธมิตร และแกนนำ นปช. ยังต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ตามความเห็นของนักวิชาการผู้นี้ ผลลัพธ์อันเกิดจาก
ข้อเสนอของเขาจะครอบคลุมทุกประเด็นซึ่งเป็นวิกฤตในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถูกหลักประชาธิปไตยและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ฟัง อ.สมศักดิ์แล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าคำอภิปรายของคุณอภิสิทธิ์ เมื่อค่ำวันที่ 5 เมษายน ซึ่งท้าว่าตนเองและคุณสุเทพ จะไม่รับการนิรโทษกรรม เพื่อแลกกับการไม่นิรโทษกรรมให้อดีตนายกฯทักษิณ ส่วนคนอื่นที่เหลือให้นิรโทษทั้งหมดนั้น
ดูเข้าทีอยู่ไม่น้อย
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333961777&grpid=03&catid=02&subcatid=0207 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น