จุฬาฯ เสนอ 11 มาตรการแก้น้ำท่วม
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอ 11 มาตรการป้องกันภัยพิบัติและน้ำท่วม เผยความแปรปรวนของภูมิอากาศมีความถี่มากขึ้น...
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง 11 มาตรการแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติ "ซุปเปอร์เอกซ์เพรสฟลัดเวย์ หนทางฟื้นความเชื่อมั่นประเทศไทย" ว่า จากสภาพการแปรปรวนของภูมิอากาศแบบผกผันของประเทศไทยในช่วง 2 ปี คือ พ.ศ. 2553-2554 ได้ก่อให้เกิดสภาพฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล รูปแบบฝนตกได้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก กล่าวคือจะตกครั้งละมากๆ บางครั้งฝนตกมาครั้งหนึ่งมากกว่าฝนตกเฉลี่ยทั้งปีเสียด้วยซ้ำไป บางที่มีฝนตกเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่อง แต่บางครั้งฝนก็ทิ้งช่วงเป็นเวลานานๆ หรือบางพื้นที่ที่ไม่น่าจะมีฝนตกในบางช่วงเวลากลับมีฝนตกหนักแบบไม่ลืมหู ลืมตา ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และจากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำของโลก พบว่าในอนาคตสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศจะมีความถี่ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม พายุโซนร้อน พายุฤดูร้อน แผ่นดินถล่ม ไฟป่าและหลุมยุบเกิดขึ้นกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบทำได้ยากขึ้น
นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขน้ำท่วมแบบหลายมิติจึงเป็นความพยายามที่จะคลี่ปมของปัญหาซึ่งมีอยู่หลายมิติ และซ้อนทับกันอยู่ให้ออกมาเห็นในแนวเดียวกัน โดยตนขอเสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมผ่าน 11 มาตรการ ดังนี้
1. สร้างระบบทางด่วนพิเศษระบายน้ำท่วม เพื่อให้มีระบบผันน้ำให้ไหลลงสู่อ่าวไทยอย่างรวดเร็ว การสร้างทางระบายน้ำฉับพลัน เพื่อให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยขุดร่องน้ำขนาบคลองเพื่อเป็นช่องทางระบายน้ำในเวลาน้ำหลาก 2.วางแผนแม่บทควบคุมการป้องกันน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้างในลุ่มน้ำต่างๆ รวมทั้งควบคุมการถมที่ดินทั้งระบบ
ควบคุมการพัฒนาเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ล่อแหลมน้ำท่วม
3.ปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ทั้งระบบ สิ่งที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ ติดตามข่าวสารการเคลื่อนตัวของพายุ แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าสู่ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไปทราบถึงข่าวสารและข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการคาดการณ์ล่วงหน้า และต้องจัดเตรียมความพร้อมหากมีพายุเกิดขึ้นจริงส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
4.วางแผนพัฒนากรุงเทพฯ และเมืองบริวารในอนาคต
5.มาตรการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมและการประกันภัย เพื่อกองทุนชดเชยน้ำท่วม ทั้งนี้ภาษีน้ำท่วมโดยตรงจากพื้นที่ที่มีระบบปิดล้อมป้องกันน้ำท่วม ส่วนภาษีน้ำท่วมทางอ้อม เพื่อปกป้องพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติโดยเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างในอัตราสูงมาก
6. มาตรการควบคุมการใช้ที่ดินและผังเมืองโดยใช้แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
7.มาตรการควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อลดปัญหาแผ่นดินทรุด ช่วยให้การระบายน้ำได้ดีขึ้น
8.มาตรการแผนแม่บทกำหนดระยะเวลาการเพาะปลูกในลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับการแปรปรวนและผกผันของภูมิอากาศในอนาคต เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับภาคเกษตรกรรมและการผลิตอาหารของประเทศทั้งระบบ 9.มาตรการอนุรักษ์และปกป้องพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน ในพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงภัยน้ำท่วมสูง 10.ควรเร่งพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดภัยพิบัติทั้งระบบ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการจัดการภัยพิบัติของภาครัฐ และ
11.ควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องภัยพิบัติและส่งเสริมงานวิจัยทั้งระบบอย่างจริงจัง เพื่อลดภัยพิบัติด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
โดย: ทีมข่าวการศึกษา
14 พฤศจิกายน 2554, 19:17 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น