| ศาลเจ้าแม่ทับทิมเชิงสะพานซังฮี้ |
| | เรื่องความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์เรามาแต่ดึกดำบรรพ์ ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้อง คุ้มครอง จึงเกิดคติความเชื่อว่าหากมีการบนบานศาลกล่าวเซ่นไหว้บูชาแล้ว ก็จะพ้นจากความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน ซึ่งในทุกด้านของชีวิตมนุษย์ล้วนมีความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งสิ้น เช่น ความเชื่อในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องโชคลาภ การงาน เรื่องการขอลูกคลอดบุตร เรื่องความรัก ครอบครัว หรือเรื่องทางน้ำ ซึ่งในช่วงนี้ดูจะมีน้ำเยอะเป็นพิเศษจนท่วมบ้านท่วมเมือง ก็มีความเชื่ออยู่หลากหลายเช่นกัน โดยความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับน้ำที่คนไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็มีหลายองค์ เช่น เจ้าแม่ทับทิม เจ้าแม่หรือเทพธิดาแห่งท้องทะเลที่คุ้มครองผู้เดินทางทางเรือ ที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีก็คือ "เจ้าแม่ทับทิม" หรือ "เจ้าแม่มาจู่" หรืออีกหลายต่อหลายชื่อ เช่น "จุยบ่วยเนี่ยว" แปลว่าเจ้าแม่ชายน้ำ ชาวจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า "เทียนส่งเซ่งโบ้" แปลว่าเจ้าแม่สวรรค์ หรือ "ม่าจ้อโป๋" เป็นที่เคารพบูชาในหมู่ชาวเรือและชาวประมง คนแต้จิ๋วมักเรียก "เทียงโหวเซี๊ยบ้อ" ที่วัดสุทธิวรารามเรียก "โอวโต่วเซี๊ยม่า" ที่เขาสามมุขเรียก "ไห่ตังม่า" ส่วนคนไหหลำเรียกว่า "โผ่วโต้ว" หรือ "ตุ๊ยบ่วยเต๋งเหนี่ยง" ซึ่งชื่อเรียกเจ้าแม่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ส่วนประวัติความเป็นมาของเจ้าแม่ทับทิมนั้นก็มีอยู่หลายเรื่องราวด้วยกัน โดยตำนานที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากนั้นมีอยู่ว่า เจ้าแม่ทับทิมที่เมืองจีน เกิดที่เกาะเหมยโจว มณฑลฝูเจี้ยน หรือฮกเกี้ยน เป็นคนแซ่ลิ้ม ซึ่งภาษาจีนกลางออกเสียงว่า หลิน พ่อชื่อลิ้มเฮ้ง แม่ชื่อลิ้มยุ้ย เกิดเมื่อวันที่ 23 ค่ำ เดือน 3 ของจีน พ.ศ. 1503 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิซ่งไท่จู่ ปีเจี้ยนหลงที่หนึ่ง ในราชวงศ์ซ่งเหนือ ตอนที่ถือกำเนิดปรากฏมีแสงสว่างจ้าทั้งบ้าน มีกลิ่นหอมตลบอบอวล นางมิได้ร้องไห้เหมือนเด็กทั่วไป จึงได้ชื่อว่า ลิ้มมิก (คำว่า มิก จีนกลางออกเสียงว่า โม่ แปลว่า เงียบขรึม) เมื่อลิ้มมิกโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ฉลาดมาก สามารถอ่านหนังสือได้แตกฉาน ว่ายน้ำเก่ง ฝึกสมาธิและปฏิบัติธรรม ถือศิลกินเจอย่างเคร่งครัด
|
| เจ้าแม่ทับทิมพิชัย |
| | นอกจากนี้นางยังมีสัญชาตญาณในเรื่องของดินฟ้าอากาศดีมาก สามารถคาดคะเนการเปลี่ยนสภาพอากาศได้ค่อนข้างแม่น แล้วได้ใช้สัมผัสพิเศษนี้เตือนชาวเรือเรื่อยมา อีกทั้งยังมีความรู้เรื่องแพทย์อย่างน่าอัศจรรย์ ได้ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้านเสมอๆ วันหนึ่งบิดาและพี่ชายสี่คนออกเรือไปทะเล ลิ้มมิกห้ามไว้เพราะนางรู้ว่ากำลังจะเกิดพายุใหญ่ แต่พวกเขาไม่เชื่อ จนต้องเผชิญกับพายุร้าย เรือล่มต้องลอยคอในทะเล ขณะนั้นนางกำลังทอผ้าอยู่และทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบิดาและพี่ชายจากสมาธิพลังจิตที่สูงส่ง ลิ้มมิกจึงใช้กระแสจิตส่งไปช่วยพี่ชายและบิดาให้พ้นภัย นอกจากนี้นางได้ช่วยชาวเรือให้พ้นภัยหลายต่อหลายครั้ง โดยโยนผ้าขาวขึ้นไปในอากาศ จนชาวบ้านพากันถามว่าทำทำไม นางบอกว่ากำลังช่วยชาวเรือที่ประสพเคราะห์ เมื่อเรือเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย ชาวประมงต่างกล่าวกันว่า ได้มีผ้าขาวมาตวัดเรือของพวกตนแล้วดึงให้พ้นคลื่นร้าย จนมาในวันที่ 9 ค่ำ เดือน 9 ตามจันทรคติจีน พ.ศ.1530 ลิ้มมิกเดินขึ้นไปบนยอดเขาเหมยเฟิง นางบอกมารดาว่าจะขึ้นสวรรค์แล้ว ชาวบ้านต่างเห็นแสงสีรุ้งสวยสดพร้อมเสียงดนตรีไพเราะจากสวรรค์ ซึ่งในด้านของสาเหตุการตายนั้นก็มีหลายต่อหลายตำนานเช่นกัน หลังจากที่นางได้จากไปแล้ว ก็ยังคงให้ความช่วยเหลือคนเดินเรือ ชาวประมง หรือพ่อค้าชาวเรือตลอด ชาวบ้านเกาะเหมยโจวจึงช่วยกันสร้างศาลเจ้าหลังเล็กๆขึ้นเพื่อกราบไหว้ขอบคุณที่ได้ช่วยเหลือให้พ้นภัย พร้อมทั้งยกย่องให้เป็นเทพ เรียกกันว่า "เทพธิดาแห่งสมุทร" ต่อมาชาวเรือย่านชายฝั่งทะเลจีนที่มีการติดต่อค้าขายและอาชีพประมงต่างก็สร้างศาลเจ้าขึ้น และเรียกขานนามตามภาษาถิ่นของพวกตน โดยก่อนออกจากท่าเรือต่างก็บนบานขอให้เจ้าแม่ช่วยคุ้มครองพิทักษ์พวกตน เมื่อพวกตนอยู่ท่ามกลางพายุร้ายในทะเล ต่างสวดมนตร์ขอให้พ้นภัย กล่าวกันว่าพวกเขาได้เห็นเจ้าแม่มาจู่ในชุดสีแดงปรากฏขึ้นที่เสากระโดงเรือ แล้วพายุคลื่นลมก็สงบ สำหรับในประเทศไทยเรานั้นนิยมตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมอยู่มากมายเช่นกัน โดยศาลเจ้าแม่ทับทิมในกรุงเทพฯที่ผู้คนนิยมไปไหว้มาก เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม ตรงพาหุรัด (เทียน โหว เซี้ย บ้อ), ศาลเจ้าแม่ทับทิม บางขุนเทียน (เทียน โหว เซี้ย บ้อ), ศาลเจ้าแม่ทับทิม บางโพ (เทียน โหว เซี้ย บ้อ), ศาลเจ้าแม่ทับทิม ซอยโกวบ้อ ตากสิน (เทียน โหว เซี้ย โกว), ศาลเจ้าแม่ทับทิม บางซื่อ (เจี้ย สุน เซี้ย เนี้ย), ศาลเจ้าแม่ทับทิม วัดเลียบ (จุ้ย บ้วย เซี้ย เนี้ย), ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ (จุ้ย บ้วย เซี้ย เนี้ย) เป็นแบบไหหลำ, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ดาวคะนอง (จุ้ย บ้วย เซี้ย เนี้ย) ส่วนในต่างจังหวัดก็เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม อ.เมือง จ.พิษณุโลก, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ปากน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ปากน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี, ศาลเจ้าแม่ทับทิม จ.พิจิตร เป็นศาลเจ้าแม่ทับทิมเก่าแก่ มีอายุ 100 กว่าปี, ศาลเจ้าแม่ทับทิม สวรรคโลก จ.สุโขทัย, ศาลเจ้าแม่ทับทิม อ.พิชัย และ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์, ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์, ศาลเจ้าแม่ทับทิม อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ต.ท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ถ.ทิพย์ช้าง อ.เมือง จ.ลำปาง, ศาลเจ้าแม่ทับทิม (มูลนิธิจ้าวเองสือปัตตานี) ถ.ปรีดา อ.เมือง จ.ปัตตานี, ศาลเจ้าซัมเทียนเฮวกึ๋ง (ศาลเจ้าแม่ย่านาง สมาคมชาวฟูโจว ) ถ.กระบี่ ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต, ศาลเจ้าม่าจ้อโป๋ จ.พังงา, ศาลเจ้าพ่อปึงเถ่ากงม่า เจ้าแม่ทับทิม ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี, ศาลเจ้าแม่ทับทิม ถ.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นต้น
|
| ศาลเจ้าแม่สองนาง(จากบล๊อคOKnation Kho) |
| | เจ้าแม่สองนาง แม่น้ำโขงในประเทศไทยเป็นเส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทยและประเทศลาว โดยคนไทยและคนลาวมีความเชื่อเกี่ยวกับแม่น้ำโขงว่ามี"พญานาค" หรือ "งู" ขนาดใหญ่ที่มีฤทธิ์มากอาศัยอยู่ โดยเทพเจ้าทางน้ำที่ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงนับถือกันมากก็คือ "เจ้าแม่สองนาง" ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น งู หรือ พญานาค 1 คู่ ตำนานของ "เจ้าแม่สองนาง" เล่าไว้ว่า เจ้าแม่สองนางเป็นลูกกษัตริย์อยู่ประเทศลาว องค์พี่ชื่อมัคชี องค์น้องชื่อศรีสุวรรณ พอบ้านเมืองเกิดสงคราม เจ้าแม่สองนางได้ขนสมบัติข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น นั่งเรือพร้อมทหาร สนมบริวารที่เหลือล่องลงมาตามลำแม่น้ำโขง พอมาถึงท่าน้ำวัดหายโศกซึ่งในสมัยนั้นเป็นห้วยน้ำและไหลเชี่ยวแรงเป็นน้ำวน เรือของคณะเจ้าแม่สองนางจึงล่มลงกลางลำแม่น้ำโขง ทำให้คณะของเจ้าแม่สองนางเสีย ทั้งหมดชีวิต ต่อมาวิญญาณเจ้าแม่สองนางได้มานิมิตเข้าฝันเจ้าอาวาสวัดหายโศกองค์แรกว่าให้ตั้งศาลเพียงตาให้ เพราะอยากอยู่ที่นี่ พอรุ่งเช้าเจ้าอาวาสจึงได้นำชาวบ้านมาทำศาลไม้ทรงไทย 2 หลังคู่กันที่ปากห้วย และชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า "ศาลเจ้าแม่สองนาง" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
|
| ศาลเจ้าแม่สองนางริมน้ำโขง |
| | ในสมัยนั้นเจ้าแม่สองนางจะแปลงร่างเป็นงูหรืออพญานาค 2 ตน ถ้าวันไหนเหตุการณ์ไม่ปกติ จะปรากฏการณ์มีงูมาไล่ชาวบ้านให้ขึ้นจากน้ำโขง ถ้าชาวบ้านเห็นงูก็จะรู้ว่าเป็นเจ้าแม่สองนางได้มาบอกเหตุให้ขึ้นฝั่ง ถ้าคนไหนไม่เชื่อยังคงเล่นน้ำโขงอยู่ อีกไม่นานก็จะมีคนจมน้ำตายหรือหายไปกับสายน้ำโขง ดังนั้นชาวบ้านและผู้คนในละแวกนั้นจึงเชื่อและนับถือเจ้าแม่สองนางเป็นอย่างมาก ทั้งคนไทยและคนลาวที่ทำมาหากินตามลำน้ำโขง จึงได้ตั้งศาลเจ้าแม่สองนางตามลำน้ำโขงตลอดสาย ก่อนจะเดินทางข้ามแม่น้ำโขง ก็จะร้องบอกเจ้าแม่สองนางให้รู้และช่วยปกป้องรักษาให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดหนองคายในปัจจุบัน ต่อมาหลังจากบุญบั้งไฟเดือน 7 จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง ในวันนั้นจะมีร่างทรงลงมาประทับร่างและจะมีการรำดาบ และถวายเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ โดยในปัจจุบัน "ศาลเจ้าแม่สองนาง" ตั้งอยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ที่วัดหายโศก ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย , อ.โพนพิสัย ที่ปากห้วยหลวง, ที่บ้านจอมนาง และที่ จ.บึงกาฬ หน้าโรงพยาบาลบึงกาฬ
|
| ศาลพระนาง จ.กระบี่ |
| | พระนาง ข้ามมาทางภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ก็มีตำนาน "พระนาง" ที่ได้เล่าขานต่อๆกันมาว่า แต่ก่อนมีหมู่บ้านชาวประมงริมทะเล 2 หมู่บ้าน แม้มีอาณาเขตติดกันแต่ไม่ถูกกัน หมู่บ้านแรกมีหัวหน้าหมู่บ้านชื่อวาปราบ มีลูกชายชื่อบุญ อีกหมู่บ้านมีหัวหน้าชื่อยมดึง ไม่มีลูก ยมดึงและภรรยาจึงได้ไปบนบานขอลูกสาวจากพญานาคสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งท้องทะเล โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าได้ลูกสาวสมใจจะต้องแต่งงานกับลูกชายของพญานาค และในที่สุดครอบครัวยมดึงก็ได้ลูกสาวชื่อบุญ ต่อมาเมื่อบุญโตเป็นสาว ก็เป็นสาวสวยสะพรั่งเป็นเบญจกัลยาณี มีทั้งมนุษย์ เทพารักษ์ ยักษ์ นาคหมายปอง แต่นางได้มอบใจรักให้บุญ ลูกชายของวาปราบไปแล้ว ทั้งสองผ่านอุปสรรคมากมายจนทำให้ เหล่าเทพารักษ์ ยักษ์ นาค และครอบครัวของทั้ง 2 ที่ไม่ค่อยจะถูกกัน ต่างเห็นใจในความรักที่แน่วแน่จึงยินยอมให้แต่งงานกัน ความรู้ไปถึงพญานาคที่เคยสัญญา ก็เกิดความโกรธเกรี้ยวแผลงฤทธิ์ในงานแต่งงานของบุญและนาง ใครห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง จนฤๅษีซึ่งบำเพ็ญตนในถ้ำใกล้เคียงต้องออกมาปราบ แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายฤๅษีจึงสาปทุกอย่างให้กลายเป็นหิน แต่นางขอยอมรับผิดขอให้สาปนางคนเดียว ฤๅษีเห็นใจจึงได้ให้นางบำเพ็ญตนจนสิ้นอายุขัยจึงค่อยกลายเป็นหิน ส่วนเรือนหอก็กลายเป็นถ้ำพระนาง
|
| บูชาพระนางด้วยศิวลึงค์ |
| | ด้วยความที่นางบำเพ็ญตนทำความดีช่วยเหลือผู้คน จนกลายเป็นเทวนารี เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วก็ยังสถิตอยู่ที่ถ้ำพระนาง คอยดูแลปกปักษ์รักษาผืนดินและผืนน้ำมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนนิยมมาบนบานศาลกล่าวที่ "ศาลพระนาง" ซึ่งตั้งอยู่ในถ้ำพระนาง ทั้งในเรื่องของการเดินเรือ การหาปลา ขอบุตร เป็นต้น และนิยมบูชาพระนางด้วยศิวลึงค์ พระแม่ธรณีบีบมวยผม อีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเชื่อมาจากชมพูทวีป การก้มกราบแผ่นดินหรือการบูชา "แม่พระธรณี" นั้น อยู่กับมนุษย์อุษาคเนย์มาช้านาน โดยเฉพาะในอินเดียและแผ่ขยายมายังประเทศไทย โดยเราบูชาพระแม่ธรณีเพื่อให้แผ่นดินมีความสงบสุขและร่มเย็น เพราะเชื่อว่า แม่พระธรณีเป็นเทพผู้คุ้มครองแผ่นดิน โดยตำนานพระแม่ธรณี มีปรากฏในพุทธประวัติความว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่โพธิบัลลังก์ ได้ทรงผจญกับเหล่าพวกพญามารทั้งหลาย พญามารได้ออกอุบายต่างๆ นานา เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงเกิดกิเลสตัณหา แต่พระพุทธองค์ทรงไม่ยินดียินร้าย และในครั้งนั้นเองพระแม่ธรณีทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเหล่าพญามารโดยทรงบีบน้ำจากมวยผม เพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธเจ้าได้กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ ปรากฏว่าน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากถึงขั้นเป็นมหาสมุทร พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป ต้นเหตุนี้ทำให้เกิดพระพุทธรูปในปางมารวิชัยขึ้นในกาลต่อมา
|
| พระแม่ธรณีบีบมวยผมที่ข้างสนามหลวง |
| | แม่พระธรณีในศิลปะไทยที่มีปรากฏอยู่ จะทำเป็นรูปหญิงสาว รูปร่างอวบใหญ่ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่าแต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย บางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันก็คือ มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม สำหรับเทวาลัยของพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่โด่งดังได้แก่ "เทวาลัยพระศรีวสุนธรา" ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินใน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์และสะพานผ่านพิภพลีลา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับสนามหลวงมายาวนาน สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งความเชื่อทั้งหมดนี้ แม้จะไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จเพียงไร แต่ผลจากความเชื่อนี้ทำให้ผู้ที่เชื่อเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น เพราะมีสิ่งที่เชื่อถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ทั้งยังทำให้เกิดกำลังใจและพลังที่จะต้องสู้กับอุปสรรค หากรู้สึกว่าตนเองมีสิ่งที่เชื่อถือคุ้มครอง และยังทำให้เกิดความสุขใจหากได้ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นอีกด้วย http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148359 |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น