เคหะธนฯยังอ่วม ยุงชุม-น้ำเน่า ท่วมสูงกว่าเมตร
สถานการณ์น้ำท่วมที่ชุมชนเคหะธนบุรี โครงการ 1 ถนนพระราม 2 ซ.69 ยังอ่วม! ระดับน้ำสูง 60-120 ซม.พบชาวบ้านเริ่มป่วยน้ำกัดเท้า-ท้องร่วง เจ้าหน้าที่เตรียมนำปลาหางนกยูงปล่อยลงน้ำ แก้ปัญหายุงชุม คนขับสามล้อถีบโอด น้ำท่วมรายได้หด...
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมภายในชุมชนเคหะธนบุรี โครงการ 1 ถนนพระราม 2 ซอย 69 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน พบว่าน้ำยังท่วมบนพื้วผิวการจราจรตลอดซอย ตั้งแต่บริเวณด้านข้างห้างสรรพสินค้าโลตัส แต่ยังไม่มีล้นขึ้นบนถนนพระราม 2 โดยความสูงของน้ำที่ท่วมนั้น มีความต่างกันตามสภาพของพื้นดิน อยู่ที่ระหว่าง 60–120 เซนติเมตร รถจยย. และรถยนต์ขนาดเล็กสามารถสัญจรได้ สามารถเข้าซอยได้ถึงปากซอยพระราม 2 ที่ 69 แยก 3 เท่านั้น หากประชาชนต้องการสัญจรเข้าไปต่อ จะต้องเดินบนสะพานไม้ หรือไม่ก็ต้องรอเรือกับรถบรรทุกของทหารและตำรวจที่มีให้บริการอยู่ตามจุดนัดหมายภายในซอย นอกจากนี้ยังพบว่า จุดจอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเคยกำหนดไว้ บริเวณด้านข้างห้างสรรพสินค้าโลตัส ได้แปรสภาพเป็นจุดเทียบเรือรับจ้าง และเรือชาวบ้านที่เดินทางออกมาจับจ่ายซื้อของไปกักตุนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากการสอบถาม พ.ต.อ.ยุคลเดช ตันสกุล ผกก.สน.ท่าข้าม ซึ่งตั้งศูนย์ ศปก.สน.ท่าข้าม อยู่ในชุมชน กล่าวว่า น้ำเริ่มสร้างความเสียหายภายในชุนชนแห่งนี้มาตั้งแต่ประมาณวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ช่วงนั้นระดับน้ำบริเวณแยกซอยที่ 21, 22 และ 23 วิกฤติสูงสุดถึง 1.50 เมตร ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 3,500 ครัวเรือน เกือบ 20,000 ชีวิต ต้องเดือดร้อน อพยพออกจากพื้นที่กันจ้าละหวั่น แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้ละทิ้งบ้านไปไหน ก็พยายามปรับสภาพอยู่กับน้ำให้ได้ จึงจะเห็นว่าตอนนี้ลูกเด็กเล็กแดงสามารถพายเรือ พาพ่อกับแม่หรือญาติผู้ใหญ่ออกมาทำธุระกันได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว สำหรับสถานการณ์ขณะนี้น้ำได้เริ่มลดลงแต่ยังลดไม่มาก จุดที่เคยวิกฤติสูงสุด เหลืออยู่ประมาณ 1.20 เมตร ซึ่งรถชาวบ้านก็ยังใช้สัญจรผ่านไม่ได้อยู่ดี ขณะที่มีชาวบ้านบางส่วนเริ่มป่วยจากโรคน้ำกัดเท้า และเด็กๆท้องร่วงกันมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนชาวบ้านที่เดินทางมาพบแพทย์ รพ.บางปะกอก 8 อินเตอร์ฯ ที่อาสามาประจำอยู่ที่เต็นท์ ศปก.สน.ท่าข้าม มากขึ้นทุกวัน
"ส่วนจะมีโรคระบาดชนิดอื่นตามมาอีกหรือไม่ ตนคงตอบไม่ได้ แต่เริ่มมีบางรายที่เป็นไข้สูง จ่ายยาพาราเซตามอลไปทานแล้วไข้ไม่ลด ต้องส่งตัวไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลแล้ว 2-3 ราย โดยตนเชื่อว่าชาวชุมชนเคหะธนบุรี โครงการ 1 ทั้ง 6 ส่วน จะต้องทนอยู่กับน้ำในลักษณะนี้ไปอีกอย่างต่ำ 1 เดือน ซึ่งน้ำที่เน่าเสีย ก็จะมียุงลายพาหนะนำโรคไข้เลือดออกจำนวนมากมาอยู่กับชาวบ้านด้วย ตนจึงประสานงานกับ กต.ตร.สน.ท่าข้าม ให้ช่วยนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหางนกยูง ซึ่งหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก จำนวน 500 คู่ มาดำเนินการแจกจ่ายให้ชาวบ้านชุมชนเคหะธนบุรี ส่วนที่ 1 นำไปปล่อยตามใต้ถุนบ้าน เป็น การนำร่องก่อน คาดว่าปลาเหล่านี้น่าจะช่วยกินลูกน้ำ ลดปริมาณของยุงไปได้เยอะ ประกอบกับปลาหางนกยูงเป็นปลาที่อึด ตายยาก แพร่พันธุ์รวดเร็วอยู่ในน้ำได้ทุกสภาพ หากหลังจากนี้ ผู้มีจิตศรัทธาอยากนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลามาบริจาค ตนก็น้อมรับ จะได้นำไปช่วยเหลือชาวบ้านให้ทั่วถึงต่อไป" พ.ต.อ.ยุคลเดช กล่าว
ขณะที่นายสุพงศ์ โชติพันธุ์ ประธานชุมชนเคหะธนบุรีโครงการ 1 ส่วนที่ 1 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยได้รับการสนับสนุนอีเอ็มบอล จากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วประมาณ 1,000 ลูก แต่ขณะนี้ได้แจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปโยนรอบๆ บ้านเรือนจนหมดแล้ว คาดว่าปริมาณอีเอ็มบอลที่ได้รับมา อาจยังไม่เพียงพอ จึงประสานให้สมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเดินทางมาเป็นวิทยากร อบรมวิธีทำอีเอ็มบอลให้ชาวบ้าน นำไปผลิตช่วยเหลือตัวเอง ถือเป็นการทำวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยความรู้ที่ได้จากภาครัฐ ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ใครอยากทำก็ลงมือทำ ต่างคนต่างนำหัวเชื้อคนละสูตรกันมาปั้นเป็นอีเอ็มบอลเหมือนในอดีต ซึ่งตนเห็นว่าวิธีการสารพัดสูตรแบบเก่าๆ มันอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แย่ลงยิ่งขึ้นได้
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังสังเกตเห็นชาวบ้านกลุ่มหนี่ง นำสามล้อถีบแบบโบราณที่มีอยู่ตามต่างจังหวัดออกมาปั่นรับจ้างประชาชนภายในซอยพระราม 2 ที่ 69 อีกด้วย จากการสอบถาม นายทวีพงษ์ จุดศรี อายุ 24 ปี ชาว จ.ขอนแก่น โชเฟอร์สามล้อถีบ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่น้ำยังไม่ท่วมซอย จะมีวินสามล้อถีบ ที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านประมาณ 100 คัน แต่พอน้ำมา ปรากฏว่าโชเฟอร์ทุกคันจำเป็นต้องอพยพ ทำให้เหลืออยู่แค่ประมาณ 10 คัน ที่ยังอยู่บริการชาวบ้านต่อ โดยเฉพาะตนที่ต้องหยุดปั่นไปกว่า 1 สัปดาห์ ทำให้ขาดแคลนรายได้ เมื่ออดข้าวไม่ไหว ก็ต้องออกมาสู้ ขณะนี้แม้น้ำจะลดลงบ้างแล้ว แต่สามล้อถีบก็สามารถวิ่งให้บริการได้เพียงระยะสั้นๆ จากปากซอยพระราม 2 ที่ 69 ถึงหน้าสถานีดับเพลิงบางขุนเทียน ระยะทางแค่ประมาณ 500 เมตรเท่านั้น บางช่วงก็ยังต้องลงจูงลดเพื่อเข็นเข้าไปส่งผู้โดยสาร เพราะระดับน้ำสูงทำให้ปั่นไม่ไหว ส่วนค่าบริการจากเดิม 10 บาท พวกตนคิดเพิ่มอีกเท่าตัว เป็น 20 บาทเท่านั้น ชาวบ้านบางรายเห็นแล้วสงสาร ก็จะมีสินน้ำใจเพิ่มให้รายละ 10-20 บาท จากราคาปกติ.
โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
21 พฤศจิกายน 2554, 17:44 น.
http://m.thairath.co.th/content/region/218141
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น