วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทีมวิจัยสิทธิบัตรยาเผย บริษัทยารักษามะเร็งเม็ดเลือดแอบผูกขาดยาว

ทีมวิจัยสิทธิบัตรยาเผย บริษัทยารักษามะเร็งเม็ดเลือดแอบผูกขาดยาว

28 พ.ย.54 ภญ.ดร.อุษาวดี  มาลีวงศ์ ทีมวิจัย "สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น" ได้เปิดเผยความคืบหน้าของการวิจัยพบว่า ยาตัวสำคัญๆ หลายตัวที่จำเป็นต่อการรักษาโรค มีคำขอสิทธิบัตรที่เข้า

ข่ายการขอรับสิทธิบัตรที่มีลักษณะ evergreening หรือเรียกว่า สิทธิบัตรที่มีลักษณะแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากได้รับสิทธิบัตรไป อุตสาหกรรมยาข้ามชาติจะได้สิทธิผูกขาดมากไปกว่าที่ควรได้ โดยในยาบางตัวพบว่าจะมีระยะเวลาการผูกขาดในตลาดยานานขึ้นถึง 10 ปี

"เราพบว่า ยา Imatinib หรือชื่อทางการค้าคือ ยา Glivec ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในกลุ่มการประกาศบังคับใช้สิทธิ (CL) มีคำขอรับสิทธิบัตรของยาตัวนี้ในประเทศไทยถึง 6 คำขอ ทั้งการใช้, การขอในรูป salt form และการขอในรูปของ polymorph  ซึ่งอยู่ในข่ายที่เป็น evergreening ชัดเจน หากเทียบกับสิทธิบัตรตัวตั้งต้นของสหรัฐอเมริกา ยาตัวนี้น่าจะหมดสิทธิบัตรในไทยในปี 2559 แต่หากคำขอสิทธิบัตรแบบ evergreening เหล่านี้ได้รับการอนุมัติ ผู้ขอจะได้สิทธิผูกขาดทำให้ไม่มีใครสามารถผลิตยาชื่อสามัญเข้ามาแข่งได้จนถึงปี 2569 ซึ่งมากกว่าสิทธิที่พึงจะได้ถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม คำขอเหล่านี้พ้นระยะเวลาที่จะนักวิจัยและภาคประชาชนจะสามารถทำคำคัดค้านได้ เพราะตามกฎหมายในบ้านเรานั้นกำหนดระยะเวลาในการคัดค้านก่อนการได้รับสิทธิบัตรไว้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับกฎหมายสิทธิบัตรในต่างประเทศ เราจึงทำได้เพียงนำส่งข้อมูลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาและแจ้ง

ต่อสาธารณชน"

ทางด้าน นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ทีมวิจัยฯ กล่าวว่า ยากลีเวคกำลังกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณะอีกครั้ง เพราะในวันพรุ่งนี้ (29) ศาลสูงสุดของอินเดียจะเริ่มการไต่สวนคดีที่ บ.โนวาร์ติสกล่าวหารัฐบาลอินเดียทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่แก้กฎหมายสิทธิบัตรให้เป็นไปตามองค์การการค้าโลก หลังจากที่สำนักงานสิทธิบัตรอินเดียปฏิเสธที่จะให้สิทธิบัตรกับคำขอที่เป็น evergreening ในยาตัวนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น 

"คดีนี้มีความสำคัญต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก เพราะการยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย จะส่งผลกระทบมหาศาล โดยไปขัดขวางยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาด และนำไปสู่การเข้าไม่ถึงยาของประชาชนในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังจำกัดการวิจัยเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นผลกระทบตั้งแต่ต้นน้ำด้วย ซึ่งนี้เป็นข้อสรุปที่สะท้อนในงานวิจัยเรื่องสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุดที่ทำใน 5 ประเทศคือ อาร์เจนติน่า บราซิล โคลอมเบีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ของสถาบันเซาท์เซ็นเตอร์ สถาบันวิชาการด้านการค้าระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้"

ทีมวิจัยฯกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้มีการแถลงผลการวิจัยเบื้องต้นในคำขอสิทธิบัตรทางยาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเข้าข่าย evergreening ถึงร้อยละ 96 นั้น ทางเครือข่ายผู้ป่วยและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญทีมวิจัยไปให้ข้อมูลเพื่อทำความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น

"ทราบมาว่า ขณะนี้ทางสมาคมบริษัทยาข้ามชาติ หรือ พรีม่า ก็พยายามที่จะขอเข้าไปให้ข้อมูลกับกรมทรัพย์สินฯ ว่าสิ่งที่เขาขอนั้น เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เดิม (Incremental Innovation) ซึ่งก็เป็นสิทธิของทางพรีม่าในการให้ข้อมูล แต่เราเชื่อว่าขณะนี้หน่วยราชการและผู้กำกับนโยบายมีความตระหนักถึงปัญหาการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลย ก็ต้องฝากทั้งผู้กำกับนโยบายและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากจะมีผลกระทบที่เกิดกับการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนทั้งประเทศ"

http://www.prachatai3.info/journal/2011/11/38065

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น